อัปเดตล่าสุดจากยุโรป – เมษายน 2568
งานวิจัยล่าสุดจาก Aston University (UK) ร่วมกับโรงพยาบาลในนอร์เวย์ พบว่าคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เริ่มมีแนวโน้มเป็น โรคตาแห้ง (Dry Eye Disease) จากภาวะ ต่อมไขมันใต้เปลือกตาเสื่อม (Meibomian Gland Dysfunction – MGD) มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สถิติที่น่าตกใจ:
90% ของวัยรุ่นที่เข้าร่วมวิจัยมีอาการตาแห้งอย่างน้อย 1 อาการ
50% สูญเสียการทำงานของต่อมไขมันไปแล้ว มากกว่า 25%
หลังจากติดตามต่อเนื่อง 1 ปี พบว่าโรคมีแนวโน้มแย่ลงชัดเจน
คนเอเชียเสี่ยงมากกว่า
มีข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า ภาวะ MGD มีความชุกในประชากรชาวเอเชียสูงกว่าชาวยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ
และในบริบทประเทศไทย จากข้อมูลของคลินิกเรา พบว่า เด็กไทยอายุเพียง 5–15 ปี หลายรายมีภาวะ MGD สูงถึง 50%
พบอาการต่อมไขมันอุดตันหรือเสื่อมแม้ในเด็กเล็กที่ยังไม่ใช้หน้าจอมาก นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กที่มีภาวะภูมิแพ้ทางตา (Allergic Conjunctivitis) ก็พบอัตรา MGD สูงกว่ากลุ่มทั่วไปด้วย โดยมีรายงานจากงานวิจัยในวารสาร Cornea ปี 2016 (Yoo et al.) ว่า42% ของเด็กที่เป็นภูมิแพ้ทางตามีสัญญาณของภาวะ MGD ซึ่งยืนยันว่าควรมีการเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษในกลุ่มนี้
MGD คืออะไร?
ต่อมไขมันใต้เปลือกตา (Meibomian Glands) มีหน้าที่สร้างชั้นไขมันบาง ๆ บนผิวฟิล์มน้ำตา เพื่อชะลอการระเหยของน้ำตา หากต่อมนี้อุดตันหรือเสื่อม จะทำให้เกิด ความไม่สมดุลของฟิล์มน้ำตา และส่งผลให้เกิด โรคตาแห้งเรื้อรัง ที่สร้างความรำคาญหรือรุนแรงในระยะยาว
ทำไมเด็กยุคนี้ถึงมีความเสี่ยงสูง?
ใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์ / มือถือวันละหลายชั่วโมง
การกะพริบตาลดลงขณะใช้จอ ส่งผลให้ต่อมไขมันทำงานน้อยลง
การนอนหลับไม่เพียงพอ อาหารไม่มีคุณภาพ
ความเครียดและภาวะวิตกกังวลสูง
ภูมิแพ้ทางตา ที่มีผลต่อระบบน้ำตาและการอักเสบของเปลือกตา
แนวทางการดูแลและรักษา
ณตา จักษุ คลินิก แนะนำให้เริ่มต้นดูแลดวงตาตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยแนวทางดังนี้:
✅ ประคบอุ่นเปลือกตา วันละ 1–2 ครั้ง
✅ ฟอกเปลือกตาด้วยผลิตภัณฑ์เฉพาะทาง
✅ นวดเปลือกตาเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลของต่อมไขมัน
✅ หากเด็กให้ความร่วมมือ อาจเริ่มรักษาด้วย IPL หรือ LLLT
✅ ลดการใช้หน้าจอ ฝึกกระพริบตาอย่างสม่ำเสมอ
✅ ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
✅ บริโภคอาหารที่มี Omega-3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
“โรคตาแห้งในเด็กไม่ได้เป็นแค่ปัญหาของอนาคตอีกต่อไป แต่มันคือ ‘วิกฤตสุขภาพดวงตาในยุคไลฟ์สไตล์ดิจิทัล’ ที่ต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครู เพื่อป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ”
— ทีมจักษุแพทย์ ณตา จักษุ คลินิก