ต้อเนื้อ (Pterygium) คือ เนื้อเยื่อที่เจริญผิดปกติจากเยื่อบุตาขาวลามเข้าไปในกระจกตา ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมทางฝั่งหัวตา พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เจอแดด ลม ฝุ่น หรือรังสี UV เป็นประจำ
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต้อเนื้อ
- ต้อเนื้อขนาดใหญ่ มีผลต่อการมองเห็น
- มีอาการระคายเคือง แสบตา เคืองตาเรื้อรัง
- ดึงรั้งให้กรอกตาไม่ได้เต็มที่
- เหตุผลด้านบุคลิกภาพและความสวยงาม
การรักษาแบบต่าง ๆ
ประคับประคอง: เหมาะสำหรับต้อเนื้อที่ยังไม่โตมาก
- ให้หยอดยาบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงแสงแดด ฝุ่น ลม ด้วยการใส่แว่นกันแดด
การผ่าตัด: เมื่อมีข้อบ่งชี้ตามที่กล่าวมา การผ่าตัดจะเป็นทางเลือกหลัก
การผ่าตัดต้อเนื้อ
การผ่าตัดมีหลายเทคนิค ปัจจุบันการผ่าตัดที่มีโอกาสเป็นซ้ำต่ำที่สุด คือ การผ่าตัดต้อเนื้อ พร้อมย้ายเยื่อบุตาขาวและเซลล์ต้นกำเนิดกระจกตา ด้วยกาวชีวภาพ
การเลือกอื่นของการผ่าตัด ได้แก่
- การใช้เยื่อหุ้มรก ทดแทนการย้ายเยื่อบุตาขาวและเซลล์ต้นกำเนิดกระจกตา ในท่านที่ไม่สามารถใช้เยื่อบุตาตนเองได้ จากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ
* เยื่อบุตาเป็นแผลเป็นดึงรั้ง
* จำเป็นต้องใช้เยื่อบุตาทำทางระบายน้ำต้อหิน
- ใช้การเย็บแผลแทนการใช้กาวชีวภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่าย เหมาะสำหรับ
* ท่านที่มีโอกาสเป็นซ้ำต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ
* ท่านที่สามารถทนผ่าตัดในเวลาที่นานขึ้น และรับกับการเคืองของเส้นไหมหลังผ่าตัดได้
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- งดใส่คอนแทคเลนส์ก่อนผ่าตัดตามคำแนะนำแพทย์
- งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน ยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร
- ทำความสะอาดรอบดวงตาให้ดี และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาในวันผ่าตัด
การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด
- ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัด
- ปิดตาแน่น 24-48 ชั่วโมงขึ้นกับขนาดต้อเนื้อ
- หยอดยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
- งดแต่งหน้า หรือใส่คอนแทคเลนส์ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก
- หลีกเลี่ยงการขยี้ตา
- หลีกเลี่ยงแดด ลม ฝุ่น ควรใส่แว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกกลางแจ้ง
- หยอดยา 1-4 เดือน ขึ้นกับความเสี่ยงในการเป็นซ้ำ
- เฝ้าระวังการเป็นซ้ำใน 4 เดือนแรกใกล้ชิด
หากคุณมีต้อเนื้อที่เริ่มมีอาการเข้าข่ายต้องผ่าตัด หรือสงสัยว่าเป็นต้อเนื้อหรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้